มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา ขอแจ้งข่าวการจากไปของ ศ.เกียรติคุณแสง จันทร์งาม เมื่อวันที่ 20 ก.ค 2561 พิธีรดน้ำศพ/ขอขมากรรม ณ ศาลาบุญทวีประสงค์ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เวลา 16.00 น. กำหนดการและความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เรียน/กราบเรียนเพื่อทราบ
ประวัติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม
เกิดเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 พื้นเพเป็นชาวบ้านฮ่องเดื่อ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีเชื้อสายลาว เป็นนักศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยรุ่นแรก และนับเป็นพระนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์รูปแรกที่มีความสามารถระดับบรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษต่อหน้าชุมนุมชน โดยท่านแสดงปาฐกถาธรรมครั้งแรกตามคำแนะนำของ “พระศรีวิสุทธิญาณ” (อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ) ผู้เป็นอาจารย์ ที่หอประชุมมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากสำเร็จการศึกษาจาก มหามกุฏราชวิทยาลัย อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้สนับสนุนให้ท่านได้ทุนจาก มูลนิธิบริติช เคาน์ซิล ไปศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษระดับสูง ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในประเทศอังกฤษและหลังจากสำเร็จการศึกษา ก็ได้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอเซียเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์ แสง จันทร์งามเป็นศิษย์ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ รุ่นแรกสุด และเป็นรุ่นพี่ของ อาจารย์วศิน อินทสระ, รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม,ท่านเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงเอกอุจากนวนิยายอิงธรรมะหลายเรื่อง โดยเฉพาะลีลาวดี โดยใช้นามปากกาว่า ธรรมโฆษ เจริญรอยตามท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพซึ่งสร้างชื่อจากการเขียนนวนิยายอิงธรรมะไปทั่วประเทศ ศ.เกียรติคุณแสง จันทร์งามเป็นศิษย์ใกล้ชิดอาจารย์สุชีพท่านหนึ่งในระยะแรกๆ ที่มีการรื้อฟื้นมหาวิทยาลัยสงฆ์ในสมัย อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพยังเป็นพระภิกษุ โดยท่านยังเป็นพระนักศึกษา ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพระหว่างนั้นยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิญาณได้ให้พระมหาแสง โฆสธมฺโม ร่วมเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในที่ต่างๆ เช่น ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย ประเทศพม่า และประเทศมาเลเซีย ท่านศ.แสง จันทร์งามจึงซึมซับเอาวิธีคิดและวิธีการทำงานของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพไว้ไม่ใช่น้อย
ความสามารถทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของท่านอาจารย์แสงทำให้ท่านได้รับการยกย่องไปทั่วในหมู่พระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธว่าเป็น เพชรน้ำเอกทางพระพุทธศาสนาแห่งเมืองเหนือ ตามรอยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ บ้างก็ยกย่องท่านเป็น นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาหมายเลข 1 แห่งล้านนาไทย นับเป็นนักบรรยายธรรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน
• ได้รับพระราชทานเสมาทองคำ พ.ศ. 2529 ประเภทผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาดีเด่นด้วยการเขียน
• ได้รับรางวัลครูบาศรีวิชัยประเภทผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาดีเด่นประจำภาคเหนือ พ.ศ. 2536
• ได้รับวุฒิบัตรเชิดชูเกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2548
• ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาสังคม ปี พ.ศ. 2550 จากสำนักนายกรัฐมนตรี
• ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ จากเรื่อง ลีลาวดี ปี พ.ศ. 2551 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
• ได้รับรางวัลนราธิป ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551 (เข้ารับรางวัลในวันที่ 31 มกราคม 2552)
• ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ ชั้นกาญจนเกียรติคุณ ประจำปี 2552 จาก คณะกรรมการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแสง จันทร์งามมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100 เรื่องกระจัดกระจายอยู่ตามนิตยสารทางพระพุทธศาสนา, หนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือที่พิมพ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ มีผลงานตีพิมพ์ด้านพระพุทธศาสนาเป็นรูปเล่มจำนวนมาก อาทิ:-
ประเภทตำรา
▪ ศาสนศาสตร์ (ผลงานที่ทำให้ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์)
▪ พระไตรปิฎกสำหรับเยาวชน (พระวินัยปิฎก 3 เล่ม ทำร่วมกับ ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์)
▪ พระพุทธศาสนวิทยา
▪ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
▪ ตายแล้วเกิดตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท
▪ หลักการออกเสียงภาษาอังกฤษ
▪ วิธีสอนของพระพุทธเจ้า
▪ Buddhism of Thailand
▪ พระไตรปิฎกสำหรับพระนวกะและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
▪ คู่มือนักพูดในระบบโทสมาสเตอร์สอินเตอร์เนชั่นแนล (Toastmasters International) ของสโมสรฝึกการพูดแห่งลานนาไทย ฉบับปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
ประเภทนิยายอิงหลักธรรม
▪ ลีลาวดี ภาค 1, 2, 3
▪ ธรรมธารา
▪ ตะวันออก-ตะวันตก
▪ พบพระ
▪ ธรรมลีลา
ประเภทนิทาน
▪ นิทานปรัชญาชีวิต
▪ นิทานคติธรรม
▪ เรียนภาษาอังกฤษด้วยนิทานสนุก
▪ ธรรมหรรษา
ประเภทสารคดีธรรมะ
▪ ปรากฏการณ์ทางจิต
▪ เกร็ดธรรม
▪ Buddhism and Thai people
▪ รังษีธรรม
▪ ประทีปธรรม
▪ สร้างอำนาจจิตวิทยา
▪ ความเชื่อพิสดารของคน
▪ อริยสัจ 4
▪ พระพุทธศาสนาในล้านนาไทย
▪ จิตและการทำงานของจิต
ประเภทปริศนาธรรม
▪ นักโทษประหาร
▪ โรงพยาบาลใหญ่