วันอาทิตย์ ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๘ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในพิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๗
การนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย เฝ้าถวายสักการะ และพระธรรมวชิรจินดาภรณ์ อธิการบดี กราบทูลรายงาน พร้อมเบิกผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้สำเร็จการศึกษา เข้าเฝ้ารับประทานปริญญาบัตรตามลำดับ
โอกาสนี้ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เสด็จไปทรงรับปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ด้วย ตามที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ขอประทานถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงพระคุณวุฒิและทรงพระปรีชาในด้านการศึกษาและการบริหารการศึกษาเป็นประจักษ์ ทรงนำความรู้ที่ได้ทรงศึกษาไปปฏิบัติประยุกต์กระทั่งบังเกิดคุณประโยชน์มหาศาล ทรงรับหน้าที่เป็นครู อาจารย์ และวิทยากร ประทานการสอนและการฝึกอบรมด้านเคมี-ชีวะ-รังสีและนิวเคลียร์ แก่นักเรียนทหาร และนักเรียนนักศึกษาในสถาบันต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทั้งยังทรงสืบสานพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในด้านการศึกษาและการบริหารการศึกษาไว้ได้อย่างมั่นคง
หลังจากเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานปริญญาบัตรแก่ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิตแล้ว มีพระบัญชาโปรดให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประสาทปริญญาบัตรแก่บัณฑิต และเชิญพระโอวาทประทาน ความตอนหนึ่งว่า
“…ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีวิทยฐานะ ย่อมได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแปลว่าเป็นผู้ใหญ่เพราะประกอบด้วยคุณงามความดี การดำรงฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ย่อมมีผู้คนเป็นอันมากเข้ามาร้องขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ขอให้ช่วยเหลือ หรืออาจว่าจ้างเข้าสู่ตลาดแรงงาน รับเข้าเป็นสมาชิกขององค์กร เรียกใช้สอย มอบภารธุระให้กระทำการในภาคส่วนต่างๆ จึงขอเตือนใจทุกท่านว่า การเป็นผู้ใหญ่ในทางพระพุทธศาสนานั้น แต่ละท่านต้องมี ’พรหมวิหารธรรม‘ เป็นเรือนใจไว้เสมอ ดังที่ท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วธรรมหมวดนี้ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
ณ โอกาสนี้ ใคร่ขอเน้นย้ำหลักธรรมข้อ ‘อุเบกขา‘ ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับความยุติธรรม ซึ่งจะเกิดได้ก็โดยคุณภาวะอันปราศจากอคติเพราะชอบ เพราะชัง เพราะกลัว หรือเพราะโง่เขลา อุเบกขาธรรมจัดเป็นธรรมะสำคัญอย่างนายท้ายเรือ ที่คอยคัดท้ายไม่ให้เรือพายเฉไปเฉมา หรือหลงวนอยู่กลางน้ำจนไม่อาจไปถึงฝั่ง อุเบกขาที่แท้ย่อมจะช่วยกำกับให้เมตตา กรุณา และมุทิตา ดำรงคงอยู่อย่างได้ดุลยภาพ เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งยับยั้งใจของผู้ใหญ่ มิให้ตัดสินใจกระทำการใดๆ ไปตามอำนาจแห่งความลำเอียง กลับผิดเป็นถูก กลับถูกเป็นผิด ซึ่งหาใช่คุณลักษณะของผู้ใหญ่ที่แท้จริง
เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้รักษาอุเบกขาธรรมไว้ในใจให้มั่นคง อันจะส่งผลโดยตรงต่อความประพฤติดีปฏิบัติชอบ เสริมส่งให้ท่านได้บรรลุสุขประโยชน์ทั้งส่วนตน และส่วนรวม เป็นเครื่องค้ำจุนคณะสงฆ์ พระพุทธศาสนา และนานาสถาบันในสังคมไทย ให้ดำรงสถาพรอยู่ได้ตลอดกาลนาน…”