Skip to content
ความเป็นมาของมหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย
ปี พุทธศักราช 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้าง สถานศึกษาของวิทยาลัยแห่งนี้
ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดมหามกุฎราชวิทยาลัย พระองค์ทรงอุปถัมภ์ด้วยการพระราชทาน พระราชทรัพย์บำรุงประจำปี อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าวนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงทรงตั้งพระวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการของ มหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น 3 ประการ ดังนี้
1. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
2. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ
3. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการแล้ว ปรากฏว่าพระวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการนั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา เพื่อที่จะให้พระวัตถุประสงค์ เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขึ้น ครั้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ในฐานะนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วย พระเถรานุเถระ ได้ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” มีจุดมุ่งหมายคือ
1. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
2. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิชาทั้งของชาติ และของต่างชาติ
3. เพื่อให้เป็นสถานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ
4. เพื่อให้ภิกษุสามเณร มีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
5. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าโต้ตอบหรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
6. เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนาและเป็นศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่กาลสมัย
7. เพื่อความเจริญก้าวหน้าและคงอยู่ตลอดกาลนาน ของพระพุทธศาสนา
ปีพุทธศักราช 2489 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงประกาศใช้ระเบียบและหลักสูตรปริญญาศาสตรบัณฑิตไว้ 4 ปี และได้เปิดเรียนระดับ อุดมศึกษาเป็นรุ่นแรก ตั้งแต่นั้นมาสภาการศึกษาก็ได้ผลิตบัณฑิตจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 47 สถานภาพของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยยังคงผลิตบัณฑิตที่ไม่มี การรับรองวิทยฐานะ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2527 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาเป็น “ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต” วันที่ 1 ตุลาคม 2540 จึงได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 114 ตอนที่ 51 ก โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติความว่า “เนื่องจากในปัจจุบันสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับการ สถาปนาขึ้นเป็นสถาบันการศึกษา วิชาการพระพุทธศาสนา สำหรับพระภิกษุสามเณร มีขอบเขตในการให้การศึกษาอย่างจำกัด และยังไม่มีระเบียบการบริหารงาน ที่ชัดเจนและเหมาะสม ทำให้ไม่สอดคล้องกับการพัฒนา และส่งเริมการศึกษาและผลิตบุคลากร ทางศาสนาของประเทศ สมควรขยายขอบเขตการให้การศึกษาของ สถาบันการศึกษาดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และจัดการบริหารงาน ให้ชัดเจนและเหมาะสม โดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาดังกล่าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย” การดำเนินการ เพื่อตราพระราชบัญญัติเพื่อรับรองสถานภาพความเป็นนิติบุคคลของมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยรัฐบาลได้ร่างพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน
ปี พ.ศ. 2515 สมัยคณะปฏิวัติจอมพลถนอม กิตติขจร คณะอนุกรรมการฝ่ายอำนวยการศึกษาและสาธารณสุขของคณะปฏิวัติ ได้ร่างประกาศคณะปฏิวัติขึ้น มีสาระสำคัญเพื่อรับรองฐานะและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง แต่คณะปฏิวัติได้สิ้นสุดลง เพราะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเสียก่อน
วันที่ 17 กันยายน 2516 มหาเถรสมาคมได้มีมติเพื่อให้สภานิติบัญญัติออกพระราชบัญญัติมีใจความว่า “หากรัฐบาลจะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ก็เป็นการสมควร” คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ แต่เกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 เสียก่อน เรื่องจึงหยุดชะงักอีกครั้ง
วันที่ 30 มกราคม 2517 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดนึ่ง เพื่อร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ คณะกรรมการได้แยกร่างพระราชบัญญัติออกเป็น 2 ฉบับสำหรับมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาฯ เมื่อร่างเสร็จได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแต่ถึงระยะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อน
วันที่ 22 สิงหาคม 2518 ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการ แต่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงตกไป
วันที่ 27 กันยายน 2527 สมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไดมีการตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตร ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต และเปรียญธรรม 9 ประโยคให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของฝ่ายราชอาณาจักรและยังมีผลบังคับใช้สำหรับผู้ สำเร็จก่อนวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติด้วย (ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 101 ตอนที่ 140)
ปีพุทธศักราช 2537 ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติอีกครั้ง คณะกรรมการวิสามัญของ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเห็นชอบให้บรรจุวาระจนผ่านวาระที่ 3 แต่ก็ได้มีพระราชกฤษฎีการยุบสภาเสียก่อน
วันที่ 8 สิงหาคม 2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คณะกรรมาธิการได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและได้ผ่านการ พิจารณา โดยรัฐสภามีมติเห็นชอบให้เรียกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2540 ประกาศในพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 114 ตอนที่ 51 ก ลงวันที่ “1 ตุลาคม 2540”
เป็นอันว่าความพยายามที่จะให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ได้เดินทางผ่านกาลเวลา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2500 ก็เป็นอันถึงจุดปลายทาง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล (มาตรา 6) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัยส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการ พระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (มาตรา 6) และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในส่วนของการกำกับดูแลนั้น “รัฐมนตรี (กระทรวงศึกษาธิการ) มีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดใน มาตรา 6 และให้สอดคล้องกับ นโยบายรัฐบาล (มาตรา 48)”
สาระของพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งอื่นที่อยู่ในสังกัดของ ทบวงมหาวิทยาลัย ดังนั้นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการมหาวิทยาลัยเกิดในยุคข้าวยาก หมากแพงหรือยุคที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การที่รัฐบาลจะจัดสรร เงินงบประมาณเพื่อให้เพียงพอแก่การดำเนินงานจึงเป็นเหมือนกับการเพิ่มภาระแก่ประเทศชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่มหามกุฏราชวิทยาลัยได้เปิดดำเนินการในรูปแบบของเงินอุดหนุนจากกรมการศาสนา ซึ่งไม่เพียงพอกับการจัดการ ดังนั้นทางเลือกที่เคยปฏิบัติ จึงอาศัยเงินจากการบริจาคที่ผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุน การดำเนินการจึงผ่านวิกฤติมาได้
ความเป็นนิติบุคคล และคำว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ จะเป็นพลังผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีโอกาสผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและจริยธรรมออก ไปรับใช้พระศาสนาและประเทศชาติต่อไป
ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา
เป็นวิทยาเขตลำดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นโดยพระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี โดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ และคณะศิษย์เก่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งนี้พระธรรมดิลก (ขันติ์ ขนฺติโก) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลาวงวรวิหารในขณะนั้น ได้อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้ใช้วัดเจดีย์หลวงวรวิหารเป็นสถานที่ตั้งและดำเนินกิจการ การเปิดดำเนินการ เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 โดยได้รับความอุปถัมภ์เงินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
วัตถุประสงค์
1. เพื่อขยายการศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยออกสู่ส่วนภูมิภาค
2. เพื่อจัดการศึกษาให้สนองนโยบายคณะสงฆ์และรัฐบาลไทย
3. เพื่อบริการการศึกษาและสร้างสรรค์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
4. เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัย และแหล่งข้อมูลวิชาการทางพระพุทธศาสนาในภาคเหนือ
5. เพื่อเป็นแหล่งรวมสร้างสรรค์งานวิชาการทางพระพุทธศาสนา ระหว่างผู้รู้ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งให้บริการวิชาการพระพุทธศาสนาแก่ชุมชน
6. เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศ
สถานที่ตั้ง
เลขที่ 103 วัดเจดีย์หลวง ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ปรัชญา (Philosophy)
“ความเป็นเลิศทางวิชาการ ตามแนวพระพุทธศาสนา”
Academic Excellence based on Buddhism
ปณิธาน (Aspiration)
มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีความสามารถในการคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น และคิดดี พูดดี ทำดี ตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
วิสัยทัศน์ (Vision Statements)
1. เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ
2. เป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมวลชนที่ผลิตบัณฑิตตามแนวพระพุทธศาสนาและบุคลากรด้านต่าง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถ มีศีลธรรมในการดำรงชีวิตแบบพุทธ
3. เป็นศูนย์กลางแห่งภูมิปัญญาทางพระพุทธศาสนาของโลกที่สามารถชี้นำและยุติความขัดแย้งในสังคมโดยใช้หลักพุทธธรรม
4. เป็นสถาบันที่เน้นทำวิจัยพัฒนาตามกรอบแห่งศีลธรรม ส่งเสริมงานวิจัยเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนาและนำผลการวิจัยไปพัฒนาสังคมและคณะสงฆ์ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
พันธกิจ (Mission)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพันธกิจที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ดังนี้
1. ผลิตบัณฑิตทางด้านพระพุทธศาสนา ให้มีคุณสมบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย และกระจายโอกาสให้พระภิกษุสามเณร คฤหัสถ์ และผู้สนใจมีโอกาสศึกษามากขึ้น
2. วิจัยและพัฒนางานวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเผยแพร่องค์ความรู้ในระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ทันสมัย
3. สร้างเสริมให้บริการวิชาการแก่สังคม ชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะวิชาการทางพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างสันติสุขให้เกิดในสังคม ชุมชนและท้องถิ่น สามารถชี้นำสังคม และยุติข้อขัดแย้งในหลักวิชาการพระพุทธศาสนา และจริยธรรม
4. รวบรวมและจัดเก็บข้อมูล ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งค้นคว้า ทำนุบำรุงรักษาภูมิปัญญาไทยและท้องถิ่น รวมทั้งสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม
5. ปรับปรุงระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้ได้มาตรฐานสากล
วัตถุประสงค์หลัก (Objective)
1. ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้และความประพฤติ
2. สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีภูมิคุ้มกัน และมีคุณภาพ
3. สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
4. สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน
5. สร้างระบบการบริหารองค์การให้เป็นองค์การที่มีมาตรฐานสากล
นโยบาย (Policy)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีนโยบายในด้านดำเนินงานให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ดังนี้
1. ผลิตบัณฑิตทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนา ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ทั้งด้านความรู้ความประพฤติ มีพรหมวิหารธรรม
2. แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านวิชาการพระพุทธศาสนา สังคมและด้านศิลปวัฒนธรรม
3. บริการวิชาการพระพุทธศาสนาแก่ชุมชนอย่างกว้างขวาง เป็นศูนย์กลางแห่งการแสวงหาความรู้วิชาการพระพุทธศาสนา
4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ สร้างภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม ดำรงความเป็นชาติไทยตามวิถีประเพณี และวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา
5. บริหารจัดการมหาวิทยาลัย ให้ทันสมัย มีความโปร่งใสเป็นธรรม เน้นประสิทธิผล มีระบบ สวัสดิการที่ดี สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต